ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

ตำนานแม่ครัวหัวป่า


.ตำนานแม่ครัวหัวป่า.ตำบลหัวป่า เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีหมู่บ้านเพียง ๔ หมู่บ้านคือ บ้านจวนเก่า บ้านชลอน บ้านวัดโบถ์ และบ้านหัวงิ้ว แต่เดิมนั้นตำบลหัวป่าเคยเป็นที่ตั้ง เมืองพรหมบุรีมาก่อน เจ้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสิงห์บุรีรักษ์ โดยท่านมีภรรยาสองคน คือ คุณหญิงโหมด และคุณหญิงเตียว

เมืองพรหมบุรี ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเมืองที่ เจ้านายทางกรุงเทพฯ เสด็จไปเยี่ยมเยือนเเป็นประจำข้าราชการเมืองพรหมบุรีจึงคล่องแคล่วจัดเจนทางการต้อนรับ ดังมีคำกล่าวแต่โบราณว่า “ก้นถึงฟาก ยกเชี่ยนหมากให้เจ้า หุงข้าวให้กิน” ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระยาอภัยราชา ที่สมุหเทภิบาลมณฑลอยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่ไปเมืองพรหมบุรีบ่อย ๆ และประทับใจในการต้อนรับรวมทั้งการจัดหาอาหารการกินต้อนรับของชาวเมืองพรหมบุรีเป็นอันมาก จึงนำคณะศรัทธามาสร้างโบสถ์ศาลาให้วัดชลอน ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งกลางตำบล แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ปีถัดมาจึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดชลอนนี้ ทางเมือง พรหมบุรี ได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องเสวยนั้น
คุณหญิงโหมดเป็นหัวหน้านำแม่ครัวฝีมือเยี่ยมมาปรุงอาหารทั้งคาวหวานในทำเนียบประวัติเมืองพรหมบุรี มีบันทึกในหมายเหตุรับเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นว่า “แม่ครัวเครื่องคาวได้แก่ อำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง อำแดงแพ อำแดงสรวง ส่วนเครื่องคาวหวานได้แก่อำแดงหงส์ อำแดงสิน อำแดงพลับ อำแดงพา”
สำหรับเครื่องเสวยที่จัดถวายในครั้งนั้น มีแกงมัสหมั่น แกงบอน แกงบวน ต้มปลาร้าหัวตาลขนมจีน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมี ขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน และข้าวตอกน้ำกะทิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฝีมือการปรุงเครื่องเสวยของคณะแม่ครัวชุดบ้านหัวป่า เมืองพรหมบุรีนี้มาก เมื่อจะเสด็จกลับ พระยาอภัยราชากราบบังคมทูลขอชื่อพระราชทานคณะแม่ครัวชุดนี้ จึงได้รับพระราชทานชื่อว่า”แม่ครัวหัวป่า” จากนั้นไม่ว่าจะเสด็จไปแห่งหนใด มักจะทรงเอ่ยถึงแม่ครัวหัวป่าอยู่เนื่อง ๆ ต่อมาทรงมีพระราชดำริอยากได้แม่ครัวหัวป่ามาทำเครื่องเสวยในวังหลวงสัก ๔ คนคุณหญิงโหมดจึงจัดอำแดงเกลี้ยง อ่ำแดงอึ่งมาถวายเป็นแม่ครัวเครื่องคาว และจัดให้อำแดงหงส์ อำแดงสิน มาเป็นแม่ครัวเครื่องหวาน และในสมัยนั้นบ้านหัวป่ายังโด่งดังในฐานะมี “ละคร” ระดับมาตราฐานในสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน อำแดงเหม อำแดงปลื้ม ก็ได้เป็นครูฝึกละครในวังหลวงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
ตระกลูของแม่ครัวหัวป่า ที่สืบทอดฝีมือมาจนถึงชั้นลูกหลานในปัจจุบันนี้คือ                  
- ยายชั้น แก้วสว่าง ลูกสาวอำแดงอึ่ง ผู้มีฝีมือแกงขี้  เหล็ก                  
- ยายเนียม เอมะรัตน์ ลูกสาวอำแดงสิน แม่ครัวเครื่องคาวหวาน                     
-ยายน้อม สุขสำราญ เจ้าของตำรับแกงบอนใส่ปลาย่าง -ป้าตี๋ สีกลิ่นดี เจ้าตำรับปลาร้าปิ้ง ยำตะไคร้                 
-ป้าประยงค์ สุภาดี เจ้าตำรับยำตะไคร้                     
-ป้าลิ้นจี่ สมสกุล เจ้าตำรับขนมชั้น
-ป้าลำดวน บุญเพชรรัตน์ เจ้าตำรับขนมหม้อแกง           -ลุงยม ธรรมเนียมจัด เจ้าตำรับขนมตาล              
ดังเคยมีคำกล่าวไว้เพื่อเป็นการยีนยันว่า บ้านหัวป่า เป็นแหล่งชุมชนของผู้มีฝีมือในการทำ
อาหารคาวหวาน จนขนชื่อได้ว่าเป็น “บ้านแม่ครัวหัวป่า” อย่างแท้จริง จนสามารถที่จะแยกฝีมือของแต่ละบ้านออกไปเป็นดังนี้
“ ขนมเปี๊ยะไส้ฟักใส่ไข่ ของนางสมศรี จิตไพศาล
- ปลาท่อโก๋จืด เค็ม หวาน ของนางสาวสุ่ม ตันทรง
- เต้าเจี้ยวรสดี ของนางลิ้นจี่ ศรสำราญ
- ข้าวหลามกะทิสด ของนางอุบล ธรรมเนียมจัด
- แต่ข้าวหลามไส้สังขยา ของนางเมี้ยน ยิ่งยง
- ถ้าข้าวหลามบอกสั้นไส้เผือก ของนางม้า เทียนหอม
- ขนมหม้อแกง ของนางผวน บุญเพชรรัตน์
- ขนมเทียนไส้ถั่ว ของนางสาวราตรี ม่วงงาม
- ขนมถ้วยฟูถ้วยเล็ก ถ้วยใหญ่ของนางสมจิต สัมฤทธิ์ดี
- ขนมเปียกปูน ของนางรำพึง ต่างทองคำ”
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หัวป่านับเป็นเพชรของเมืองสิงห์บุรีอย่างแท้จริง

Translate

รายการบล็อกของฉัน