ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

ขนมซัง

sweets
ขนมซั้ง นับเป็นของว่างประเภทหนึ่ง มีรสจืด ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไผ่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มัดด้วยเชือกฟาง นำไปต้มจนสุกก่อนนำมารับประทาน
ชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน เรียกขนมซั้งว่าจีซั้งภาคกลางเรียกข้าวต้มน้ำวุ่น ขนมซั้งเป็นขนมโบราณ ซึ่งเด็กๆ ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยนิยมรับประทาน แต่ผู้ที่มีเชื้อสายจีนยังคงรับประทานกันอยู่ เนื่องจากเป็นขนมที่เกี่ยวข้องกับการไหว้บรรพบุรุษ หนมซัง หรือ ขนมซัง  เมื่อพูดถึงขนมซัง ทำให้คิดถึงวัยเด็ก ที่เมื่อก่อนไม่มีอะไรจะให้กินกัน เว้นเสียแต่ว่า ผู้ใหญ่เขาจะทำให้กิน ทำแต่ละทีก็ทีละเยอะๆ แล้วแจกกันกินกันหัวบ้านท้ายบ้าน ขนมซัง คือ ขนมอีกชนิดที่พ่อแม่ทำให้กิน จะเป็นเพราะแถวบ้านมีต้นไผ่ขึ้นอยู่มากมาย นอกจากกินหน่อไผ่แล้ว ใบไผ่ก็สามารถนำมาห่อขนมซังได้อีกด้วย(คนเมื่อก่อนมักใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบข้างเสมอ)

คำว่า “ซั้ง” เป็นภาษาจีน (ผู้ให้ข้อมูลไม่ทราบความหมาย) จากการสัมภาษณ์นายประนอบ คงสม ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง กล่าวว่า เมื่อเก้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีชาวควนเนียงท่านหนึ่งไปทำงานเป็นลูกจ้างเจ้าสัวจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอหาดใหญ่ ต่อมาได้เรียนรู้การทำขนมซั้งและได้นำมาทดลองทำกินและทำขายในตลาดควนเนียง ปรากฏว่าชาวควนเนียงและอำเภอใกล้เคียงนิยมรับประทานกันเป็นอาหารว่าง เนื่องจากขนมซั้งมีรสชาติหวานหอม สามารถรับประทานกับน้ำชา-กาแฟ หรือจิ้มกับน้ำตาล หรือราดน้ำเชื่อมโรยเกล็ดน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังเก็บไว้ได้นานประมาณ 3-7 วัน ขนมซั้งจึงได้รับความนิยมที่ผู้มาจับจ่ายข้าวของในตลาดซื้อกลับไปเป็นของฝากขึ้นชื่อของอำเภอควนเนียงมาเกือบ 100 ปี

ขนมซัง  หรือที่คนปักษ์ใต้มักจะเรียกว่า หนมซัง เป็นขนมทำมาจากข้าวเหนียว นำไปห่อกับใบไผ่ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วมัดด้วยเชือก ก่อนที่จะนำไปนึ่งให้สุกเสียก่อน หลังจากนั้นก็สามารถนำไปรับประทานได้เลย
(คล้ายๆกับ ข้าวต้มลูกโยน ซึ่ง เป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลออกพรรษา ห่อด้วยใบพ้อหรือยอดมะพร้าวเป็นรูปรี ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมถั่วดำไม่มีไส้ ผูกเข้าด้วยกันเป็นพวงแล้วนำไปต้ม)
 วัตถุดิบในการผลิตขนมซั้ง
1. ข้าวเหนียว
2. น้ำดัง (ผงด่าง)
3. ใบไผ่
4. เชือกฟาง
วัตถุดิบสำคัญในการทำขนมซั้ง คือ น้ำดัง หรือ น้ำด่าง ในสมัยก่อนได้มาจากการเผาทางมะพร้าว กาบมะพร้าว หรือเปลือกทุเรียนจนกลายเป็นขี้เถ้า จากนั้นนำขี้เถ้าไปแช่น้ำเมื่อตะกอนตกจนน้ำใส จึงจะนำน้ำใสที่ได้มาเป็นส่วนผสม ปัจจุบันนิยมซื้อน้ำดังซื้อจากท้องตลาด เรียกว่า“ผงด่าง”(เป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำขนมถังแตก) นอกจากนี้การมัดขนมซั้งในสมัยก่อนใช้ใบเตย เมื่อผ่านการต้มจะส่งกลิ่นหอมกรุ่นอันเป็นเสน่ห์ดั้งเดิมของขนมซั้ง
ขั้นตอนการผลิตขนมซั้ง
1. ล้างข้าวเหนียวจนน้ำใสสะอาด ประมาณ 4 ครั้ง
2. นำข้าวเหนียวมาซาวกับน้ำดัง (รินน้ำทิ้ง)
3. นำใบไผ่มาขึ้นเป็นรูปกรวย ใส่ข้าวเหนียว จากนั้นจึงห่อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม โดยเหลือปลายเชือกไว้ยาวประมาณ 1 คืบ
4. นำเชือกฟางที่เตรียมไว้เป็นช่อ ช่อละ 5 เส้น นำมามัดขนมซั้งให้แน่น
5. นำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมน้ำดังไว้นาน 4 ชั่วโมง โดยใช้ไม้ฟืนที่สามารถหาเองได้จากสวนยางพารา
เมื่อทำเสร็จเช้าวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 05.00 น. นางแจ่ม ศรีวรรณ จะเป็นผู้นำขนมซั้งทั้งหมดไปขายในอำเภอหาดใหญ่ สถานที่ขายคือบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและห้างสรรพสินค้าลีกาเด้นท์ โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเป็นหลัก ในราคา 60 ลูก 100 บาท (12 พวง)
               
วิธีกินก็สามารถกินได้ตามแบบที่แต่ละคนชอบ บางคนแกะใส่ในน้ำเชื่อม แล้วโรยหน้าด้วยน้ำแข็งเย็นๆ ก็กินได้อร่อยชื่นใจดี  หรือบางคนก็ใส่ในน้ำแข็งใส หรือจะกินแบบง่ายๆแบบชบาตานี(ไม่อยากบอกว่า กินแบบคนขี้เกียจ)  คือ จิ้มกินกับน้ำตาลทรายก็อร่อยดี เดี๋ยวนี้  ต้นไผ่ถูกรุกล้ำ และแทนที่ด้วยสวนยางพาราบ้าง สวนปาล์มบ้าง  ดังนั้น วัฒนธรรมการกิน ขนมซังจึงเริ่มเลือนหายไป  อย่างน่าเสียดาย..
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen

Translate

รายการบล็อกของฉัน