พอถึงวันตรุษจีน หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตเรียกว่า “เดือนสาม” ทีไร นอกจากจะนึกถึง วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว และอั่งเปาจากญาติผู้ใหญ่ แล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่ฉันนึกถึงอยู่เสมอมา
นั่นคือ “ขนมเข่ง” นั่นเอง
ขนมชื่อน่ารักเหมือนกับภาชนะนี้ เดิมทีชาวจีนมักจะทำใส่ในเข่งไม้ไผ่ใบเล็กๆ ต่อมาเมื่อเข่งไม้ไผ่หายากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้กระป๋องนมข้นหวานแทน แต่ผู้คนทั่วไปก็ยังเรียกว่าขนมเข่งอยู่ดี โดยสาเหตุที่ชาวจีนใช้ขนมเข่งเป็นขนมสำหรับไหว้ในประเพณีตรุษจีนนั้น มีเกร็ดเล่าต่อกันมาว่า ก่อนถึงวันตรุษจีนประมาณ 4 วัน บรรดาเทพเจ้าจีนที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองผู้คนในโลกมนุษย์อยู่ตลอดนั้น จะพากันขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานความดีความชั่วของมนุษย์ให้กับเง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นเจ้าสวรรค์ทราบ บรรดามนุษย์ที่ทำความชั่วไว้กลัวว่าตนเองจะถูกเจ้าสวรรค์ลงโทษ เลยคิดทำขนมเข่งนี้ขึ้นมา เพื่อนำไปตั้งไหว้บรรดาเทพเจ้าจีน โดยที่ลักษณะของขนมเข่งนั้นจะเหนียวและค่อนข้างแข็ง เมื่อเทพเจ้าจีนกินเข้าไปแล้ว จะทำให้ปากเหนียว พูดไม่ได้ และไม่ได้รายงานเจ้าสวรรค์ในที่สุด
แต่ไม่ว่าที่มาของขนมเข่งนี้จะเป็นอย่างไร เจ้าขนมสีน้ำตาล รสชาติหวานชนิดนี้ก็ยังคงอยู่เคียงข้างประเพณีตรุษจีนเสมอมา ซึ่งไม่เฉพาะที่ภูเก็ตบ้านเราเท่านั้น ที่ภาคอื่นๆ ที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ เขาก็ทำขนมเข่งสำหรับไหว้เหมือนกัน เพียงแต่ที่อื่นๆ เขาจะทำแบบใส่ไส้ เป็นไส้หวาน ไส้เค็ม แต่ขนมเข่งภูเก็ตจะไม่มีไส้ เพราะทำมาจากแป้งข้าวเหนียว และน้ำตาลอย่างเดียว
ตอนเด็กๆ นอกจากจะได้กินขนมเข่งร้อนๆ สดจากเตา โดยฝีมืออาม่าแล้ว ฉันและบรรดาพี่น้องยังได้กินขนมเข่งชุปไข่ทอด ขนมเข่งชุบแป้งทอด ซึ่งเป็นเมนูประยุกต์จากขนมเข่งอีกอย่างหนึ่ง แม้ขนมจะแข็งไปสักนิด แต่งานนี้ก็ไม่ได้กินไป บ่นไป เพราะเด็กๆ ต่างรู้ดีว่า อีกไม่นานก็จะได้อังเป่าซองแดงๆ เป็นของขวัญรับวันปีใหม่จีนแล้ว…
หมายเหตุ : สมัยก่อนคนไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตจะนิยมทำขนมเข่งเอง แต่ปัจจุบันหลายบ้านนิยมซื้อ เพราะสะดวกกว่า เช่นที่ ตลาดสด ถนนระนอง ตลาดสดเทศบาล (ตลาดเกษตร) โดยคนทำขนมเข่งจะทำมาขายประมาณ 15-20 วัน ก่อนถึงวันตรุษจีน
ขนมเข่ง ขนมหวานที่ใช้ในการเซ่นไหว้ในวันตรุษจีนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่อาจยังไม่ทราบถึงความหมายมงคล ที่เป็นเหมือนคำอวยพรให้แก่ลูกหลาน วันนี้ OpeRice.com จะพาเพื่อนๆ มาหาคำตอบถึงความหมายมงคลนี้กัน ความหวานชุ่มนุ่มลิ้นของเนื้อขนมเข่ง มีความหมายมงคล หมายถึงความหวานชื่นราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม (เข่ง) จึงหมายถึง การมีชีวิตที่หวานชื่นราบรื่นอันสมบูรณ์นั่นเอง ทราบถึงความความหมายมงคลกันแล้ว มาดูสูตรและวิธีทำขนมเข่งกันเลย
ประเภทอาหาร: อาหารหวาน
ส่วนประกอบหลัก: มะพร้าว | แป้ง
วิธีปรุง: นึ่ง
ความยากง่าย: ง่าย
ระยะเวลา: 1 ชั่วโมง
วัตถุดิบ:
1. แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
2. แป้งท้าวยายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
3. น้ำเปล่า 2 ½ ถ้วยตวง
4. น้ำตาลทราย 3 ½ ถ้วยตวง
5. น้ำมันพืชเล็กน้อย สำหรับทากระทงใบตอง (เข่ง)
6. *มะพร้าวทึนทึกขูด ตามชอบ (สามารถเปลี่ยนเป็น เผือก ลำไย หรือเนื้อผลไม้ชนิดอื่นๆหรือจะไม่ใส่ก็ได้)*
ขั้นตอนการทำ
1. แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทรายนวดผสมเข้าด้วยกัน จะได้ลักษณะเป็นเม็ดทราย ค่อยๆใส่น้ำเปล่าลงไปทีละนิดจนหมด นวดผสมจนแป้งเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน (ถ้าใส่มะพร้าว หรือเนื้อผลไม้ชนิดอื่นๆ ก็ใส่ลงไปแล้วนวกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน)
2. กระทงใบตองแห้ง (เข่ง) ทาด้วยน้ำมันพืชบางๆ จากนั้นตักแป้งที่ผสมไว้ใส่ลงไปเกือยเต็มกระทง
3. นำไปนึ่งจนสุกใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกระทงที่นำมาใส่ขนมด้วย
เคล็ดลับ: ไฟที่ใช้ในการนึงขนมนั้นควรใช้ไฟปานกลาง เพื่อหน้าขนมจะได้เรียบสวย น่ากิน